ดูแลรักษาสุขภาพเหงือก
ทันตกรรมโรคเหงือกปริทันต์
รักษาโรคเหงือกปริทันต์/ ปริทันต์อักเสบ แก้ไขและยับยั้งความเสียหายของอวัยวะรอบตัวฟัน ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจนถึงระดับรุนแรงอย่างครบวงจร ด้วยบริการทันตกรรมสำหรับโรคเหงือกปริทันต์ โดยคลินิกทันตกรรม สไมล์ สเปซ
โรคเหงือกปริทันต์ คืออะไร?
โรคเหงือกปริทันต์ คือการอักเสบเสียหายของเหงือกและอวัยวะรอบๆ ตัวฟัน เช่น เคลือบรากฟัน กระดูกรองรับรากฟัน กระดูกเบ้าฟัน และเอ็นยึดรากฟัน ซึ่งความเสียหายของอวัยวะเหล่านี้ ทำให้ฟันไม่สามารถยึดติดแน่นอยู่ในขากรรไกรได้ และอาจเป็นสาเหตุของการสูญเสียฟันทั้งที่บางครั้งคนไข้อาจไม่เคยปวดฟันมาก่อน
สาเหตุของโรคเหงือกปริทันต์
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคเหงือกปริทันต์ ก็คือเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก เมื่อเราทำความสะอาดช่องปากไม่ดีพอ การติดค้างของเศษอาหารและการสะสมตัวของเชื้อแบคทีเรียจะทำให้เกิดคราบพลัคและคราบหินปูนตามมา เมื่อมีหินปูนเกาะมากขึ้นก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้มีการสะสมของเชื้อจุลินทรีย์มากขึ้น ซึ่งเชื้อโรคในช่องปากเหล่านี้ก็จะไปกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติต่างๆ เช่น เหงือกอักเสบ มีเลือดออก จนอาจถึงขั้นทำลายอวัยวะรอบตัวฟันให้เสียหายตามมาได้
รู้ได้อย่างไรว่าเรามีอาการโรคเหงือกปริทันต์?
สัญญาณบ่งบอกของโรคเหงือกปริทันต์ที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ได้แก่
- มีเลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน
- เหงือกบวมแดงอักเสบ เลือดออกง่าย บางครั้งอาจมีหนองที่เหงือกแบบเป็นๆ หายๆ
- เหงือกรัดคอฟันไม่แน่น เหงือกร่น หรือร่องเหงือกลึก
- รู้สึกปวดหรือระคายเคืองเหงือก โดยเฉพาะเวลาเคี้ยวอาหาร
- ตัวฟันยื่นยาวออกจากเหงือก หรือฟันห่างจนเกิดช่องว่างระหว่างซี่ฟัน
- มีกลิ่นปาก
- ฟันโยก
แนวทางการรักษาโรคเหงือกปริทันต์
การรักษาโรคเหงือกปริทันต์จะต้องทำอย่างรอบด้าน โดยคนไข้อาจต้องมาพบทันตแพทย์หลายครั้งเพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แนวทางการรักษาก็อาจแตกต่างกันไปตามอาการและความรุนแรงของโรคในแตะละคน
- การรักษาในระยะเริ่มแรก ในคนที่ยังไม่มีอาการของโรคหรือมีอาการเล็กน้อย ทันตแพทย์จะป้องกันความเสียหายของอวัยวะปริทันต์โดยการขูดหินปูนร่วมกับเกลารากฟัน ซึ่งอาจต้องทำมากกว่า 1 ครั้ง จึงจะเสร็จทั่วทั้งช่องปาก
- การรักษาในระยะปานกลาง-รุนแรง ในคนที่มีอาการของโรครุนแรงมากขึ้น อาจจำเป็นต้องถอนฟันและผ่าตัดเหงือกบางส่วนออก ร่วมกับทำศัลยกรรมปลูกกระดูกทดแทน และเมื่อการรักษาเสร็จสิ้น คนไข้ก็ควรมารับการขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือน เพื่อคงสภาพปริทันต์และป้องกันไม่ให้โรคกลับมาเป็นซ้ำ