เสริมความแข็งแรง
ครอบฟัน
การครอบฟัน คือการรักษาฟันที่มีความเสียหายมาก ด้วยการกรอซี่ฟันเดิมให้มีขนาดเล็กลง แล้วนำครอบฟันซึ่งทำจากวัสดุที่ดูเหมือนกับซี่ฟันปกติไปสวมทับ การครอบฟันจะช่วยเสริมความแข็งแรงของฟัน และฟื้นฟูฟันที่เสียหายให้กลับมาดูมีสภาพใกล้เคียงกับปกติ
ครอบฟันโลหะล้วน
ครอบฟันเซรามิกล้วน
ครอบฟันโลหะเคลือบเซรามิก
ครอบฟันเรซินล้วน
ครอบฟันเหล็กกล้าไร้สนิม
วัสดุครอบฟันมีกี่ชนิด และควรเลือกแบบไหน?
วัสดุครอบฟันที่ใช้กันในปัจจุบันมีอยู่ 5 ชนิดหลักๆ ซึ่งก็ล้วนมีข้อดี-ข้อเสีย และความเหมาะสมแตกต่างกันไป
- ครอบฟันโลหะล้วน (Full-metal crown) เป็นวัสดุครอบฟันที่มีความแข็งแรงทนทานมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็มักมีสีไม่กลมกลืนกับสีฟันธรรมชาติ และในการสวมก็ต้องกรอเนื้อฟันออกมาก ครอบฟันโลหะล้วนจึงเหมาะกับฟันกรามที่ต้องใช้แรงบดเคี้ยวสูง
- ครอบฟันเซรามิกล้วน (All-ceramic crown) วัสดุเซรามิกล้วนจะให้ครอบฟันที่มีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด มีความสวยงาม อีกทั้งยังสามารถปรับเฉดสีได้หลากหลาย แต่ข้อเสียคือครอบฟันอาจสึกหรอหรือเสียหายได้ โดยเฉพาะในคนที่มีพฤติกรรมนอนกัดฟันเป็นประจำ
- ครอบฟันโลหะเคลือบเซรามิก (Porcelain-fused-to-metal crown) เป็นการครอบฟันที่ใช้โลหะเป็นโครงเพื่อความแข็งแรง แล้วจึงเคลือบด้วยเซรามิกเพื่อให้มีสีคล้ายฟันธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม วัสดุแบบนี้อาจยังดูไม่กลมกลืนเป็นธรรมชาติเท่ากับเซรามิกล้วน อีกทั้งเคลือบเซรามิกภายนอกก็มีโอกาสบิ่นแตกได้เช่นกัน
- ครอบฟันเรซินล้วน (All-resin crown) จะใช้วัสดุเป็นเรซินซึ่งมีความแข็งแรงปานกลาง และมีข้อดีคือราคาถูกที่สุด แต่ก็มีโอกาสแตกหักได้ง่ายกว่าวัสดุชนิดอื่น จึงเหมาะจะใช้สำหรับการครอบฟันชั่วคราว หรือใช้ระหว่างรอสวมครอบฟันจริง
- ครอบฟันเหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless steel crown) เป็นครอบฟันสำเร็จรูปที่ทำจากสแตนเลส ซึ่งเหมาะกับการครอบฟันน้ำนมในเด็ก เพราะเมื่อฟันแท้ขึ้น ฟันน้ำนมที่สวมครอบฟันไว้ก็จะหลุดออกไปเองตามธรรมชาติ แต่ข้อเสียคือวัสดุจะมีสีที่สังเกตเห็นได้ง่าย และดูไม่สวยงามกลมกลืน
ควรทำครอบฟันในกรณีไหนบ้าง?
การครอบฟัน จะใช้รักษาฟันที่มีความเสียหายค่อนข้างมาก รวมถึงในกรณีอื่นๆ ด้วย ได้แก่
- คนที่มีฟันหัก ฟันแตก หรือฟันบิ่น
- คนที่มีฟันผุมากหรือผุลึก จนไม่สามารถอุดฟันได้
- เด็กที่ฟันน้ำนมผุมาก จนไม่สามารถอุดฟันได้
- คนที่รักษารากฟัน หรือทำรากฟันเทียม ซึ่งอาจจำเป็นต้องทำครอบฟันเพื่อปกป้องฟันและรากฟันซี่ที่รักษา
- คนที่ใส่สะพานฟัน
- คนที่ฟันมีสีเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน
ข้อดีของการทำครอบฟัน
- ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับฟันที่เสียหาย ทำให้ฟันกลับมาใช้งานได้ และฟื้นฟูสภาพฟันให้กลับมาดูเหมือนปกติ
- ช่วยป้องกันไม่ให้ฟันที่ผุมากหรือแตกหักอยู่แล้วเสียหายลุกลามมากขึ้น
- ช่วยปกป้องฟันที่รักษารากฟันหรือทำรากฟันเทียม
- มีความคงทนกว่าวัสดุอุดฟันตามปกติ
ข้อควรระวังในการทำครอบฟัน
- ฟันซี่ที่จะสวมครอบฟัน จะต้องมีรากฟันและโพรงประสาทฟันที่สมบูรณ์ เพราะหากรากฟันไม่สมบูรณ์หรืออักเสบ การสวมครอบฟันก็อาจทำให้เกิดปัญหาฟันโยก หรือครอบฟันหลุดตามมาได้
- คนไข้บางคนอาจมีอาการแพ้วัสดุที่ทำครอบฟันได้ เช่น การแพ้โลหะบางชนิด ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก แต่หากมีอาการแพ้ก็ควรมาพบทันตแพทย์โดยด่วน
- การเคี้ยวของที่แข็งมากๆ มีโอกาสทำให้ครอบฟันชำรุดเสียหาย แตก หัก บิ่น หรือหลุดได้เช่นกัน